อุตสาหกรรมเหล็กเข้าขั้น"วิกฤติ"

06 ธันวาคม 2566
อุตสาหกรรมเหล็กเข้าขั้น"วิกฤติ"

ข่าวการปิดกิจการและปลดพนักงานทุกคน ของโรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด ที่ตั้งมาเกือบ 60 ปี ซึ่งในวงการอุตสาหกรรมเหล็กด้วยกันถือว่าเป็นหนึ่งในตำนานของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่มีความแข็งแกร่ง ประวัติยาวนาน จนอาจถือได้ว่าเป็นเรือธงของอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย

โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับโรงงานเหล็กอื่น ๆ ของคนไทย ที่ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีนี้ เผชิญการแข่งขันจากการทุ่มตลาดอย่างหนักจากสินค้าของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ โดยเฉพาะจีน และในขณะเดียวกัน ประเทศผู้นำเข้าเหล็กจากเรา ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็งัดมาตรการกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทุ่มตลาด หรือ AD หรือ มาตรการกีดกันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ทางการค้า จนทำให้เหล็กของเราไม่สามารถส่งออกไปประเทศต่างๆ เหล่านั้นได้ แถมตอนนี้ยังมีมาตรการเกี่ยวกับโลกร้อน เช่น CBAM ของอียูเข้ามาอีก ตอนนี้ ... จอดสนิท

แม้ว่าในช่วงหลังๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ออกมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ AD หรือ แม้แต่การห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กบางชนิด แต่ก็ไม่สามารถกีดกันการทุ่มตลาดจากข้างนอกได้ จนตอนนี้การใช้กำลังการผลิตในประเทศมีประมาณ 20–30%

ใครที่อยู่ในวงการเหล็กพอเห็นตัวเลขก็รู้ว่า “กลืนเลือด” ตัวเองไปวันๆ มักมีคำถามว่าทำไมอุตสาหกรรมในบ้านเราไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ คำตอบง่ายๆ ก็คือ เขามีต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะจำนวนปริมาณการผลิตที่มาก การอุดหนุนของภาครัฐผ่านสาธารณูปโภค

และด้านภาษีส่งออกที่มีมานานจนคืนทุนจากการลงทุนไปแล้ว ทำให้ต้นทุนทางการเงินในสินค้าทุนแทบไม่มี นอกจากนี้ แม้ว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะออกมาตรฐานบังคับก็ตาม และบางรายการมี AD แล้ว

แต่ผู้ผลิตต่างประเทศและผู้ค้านำเข้าก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการหลบหลีกกฎหมายแบบเถรตรงของเราที่ว่ากันตามตัวอักษร โดยการผสมธาตุต่าง ๆ เข้าไปเพื่อแจ้งนำเข้าเป็นสินค้าใหม่ที่ไม่อยู่ในรายการต้องห้าม ทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติการใช้ประโยชน์เหมือนเดิมทุกอย่าง คนใช้ในประเทศก็คนเดิม

ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ออกแรงมากขึ้นโดยการใช้มาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงมาตรการ AD หรือ Circumvention ซึ่งต้องเร่งให้ไวและเชิงรุกมากกว่านี้ก่อนจบเห่ทั้งอุตสาหกรรม

อีกสาเหตุหนึ่งที่บ้านเราสู้เขาไม่ได้นั้น ผมว่าเป็นปัญหาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กของเราเอง โดยดูจาก supply chain จะพบว่าเราไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือโรงถลุงเหล็ก ที่เราพยายามจะตั้งมานานแล้ว แต่ติดปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทำให้หาวัตถุดิบคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันได้ยาก

ถ้าจะได้ก็เป็นขั้นกลางที่มีราคาสูง ทำให้คู่แข่งมีแต้มต่อตั้งแต่เริ่ม แถมมีปริมาณการผลิตจำนวนมากพอที่จะได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด  แถมค่าเชื้อเพลิงยังสูงกว่า เมื่อเทียบกับคนอื่น เราสู้ไม่ได้จริงๆ อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศคู่แข่ง ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการส่งออกมาเป็นเวลายาวนาน ต้นทุนการผลิตในประเทศค่อนข้างต่ำ เพราะมีโครงสร้างการผลิตที่ครบถ้วน

ผมคิดว่าปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเราเป็นปัญหาทางด้านโครงสร้าง ซึ่งจะให้แก้เป็นจุด ๆ อย่างไงก็รอวันดับ แต่รัฐฯ ต้องมองในทุกจุดพร้อมๆ กัน และต้องมีเจ้าภาพที่มองภาพรวมทั้งหมดในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา แต่ในระยะสั้น ปัจจุบันทันด่วนนี้ ผมว่าตอนนี้อุตสาหกรรมเหล็กกำลังเผชิญกับวิกฤติ ที่รัฐต้องเข้าไปแก้ตรงจุดวิกฤตินี้ก่อนอย่างเร่งด่วน แล้วดูการพัฒนาความเข็มแข็งของอุตสาหกรรมของเรา ระเบียบ กติกา

ที่เหมาะสม เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบมีความเข้มแข็ง

ในช่วงวิกฤติของอุตสาหกรรมนี้ มาตรการในการปกป้องที่มีประสิทธิภาพคือความรวดเร็วในการจัดการการหลีกเลี่ยง AD และ มอก. ของสินค้านำเข้า ที่ต้องทำให้ไวและแสดงความชัดเจนว่ารัฐเอาจริงกับเรื่อง Circumvention ไม่งั้นเขาก็มองว่าเราเล่นละคร รำได้รำไป แม้เจตนารมณ์หลีกเลี่ยงชัดเจน แต่ก็ทำอะไรเขาไม่ได้

และอีกมาตรการหนึ่งในจุดวิกฤติ คือ เวลานี้ โรงงานผลิตเหล็กบางชนิด มีการใช้กำลังการผลิต 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมดเท่านั้นเอง ผมว่าการใช้มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานผลิตเหล็กในประเทศที่ครั้งหนึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเคยใช้ได้ผลมาแล้ว จนทำให้มีเวลาได้หายใจหายคอ ตั้งหลักกันใหม่ และก็มีบางประเทศในภูมิภาคแถบนี้ ก็เอานำมาตรการนี้ของไทยไปพัฒนาใช้ในประเทศตัวเองเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของตนเองเหมือนกัน แต่คราวนี้เราน่าจะทำในทุกอุตสาหกรรมเหล็กที่มีการใช้กำลังการผลิตในประเทศต่ำ

วันนี้อุตสาหกรรมเหล็กเข้าขั้นวิกฤติแล้ว การแก้ปัญหาวิกฤติที่ดี คือ ตรงเข้าหาจุดวิกฤติ และออกมาตรการการเฉพาะหน้า เห็นผลทันที หลังจากนั้น ค่อยพัฒนาความพร้อมให้แข่งขันได้ในเกมส์ที่แฟร์ ผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้คงมองเห็นวิกฤติในอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะขนาดเศรษฐกิจมหภาคเป็นแบบอย่างที่เห็น ยังมองว่าเป็นวิกฤติเลย แล้วอุตสาหกรรมเหล็กเป็นถึงขนาดนี้แล้วจะไม่มองว่าเป็นวิกฤติก็แปลกล่ะ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.